ย้อนกลับไปเมื่อตอนปลายเดือนมี.ค. ที่ผ่านมา วิกฤต COVID-19 ที่ทำให้เราเข้าสู่มาตรการปิดเมือง (Lockdown) และรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ในตอนนั้น ถ้ายังจำกันได้ ผลกระทบบางอย่างที่เกิดขึ้นก็คือ เราได้เห็นการไหลออกของเงินในตลาดตราสารหนี้เกิดใหม่มากเป็นประวัติการณ์ ซึ่งคิดเป็นกว่า 10 % ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่อยู่ภายใต้การจัดการ (AUM) ทั่วโลก รวมถึงราคาตราสารหนี้เอกชนปรับตัวลดลงอย่างมาก เกิดการขายคืนหน่วยลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ปริมาณมาก ๆ พร้อม ๆ กันในระยะเวลาอันสั้นนับเป็นความผันผวนรุนแรงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
แต่ด้วยวิกฤตการณ์ครั้งนี้ อีกฝั่งคือ “ผู้ซื้อ” ก็รอดูและประเมินสถานการณ์มากขึ้น ตัดสินใจช้าลง ทำให้สภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้ทั้งไทยและต่างประเทศลดลงกว่าในช่วงเวลาปกติ เรียกได้ว่า “เบาบางมาก”
ณ เวลานั้น ทาง TMBAM Eastspring ได้ตัดสินใจ ประกาศเลิกโครงการกองทุนเปิดทหารไทยธนไพศาล ทหารไทยธนไพบูลย์ ทหารไทยธนพลัส และทหารไทยธนเพิ่มพูน เพื่อยุติการไหลออกของเงิน ซึ่งจะไปกระทบกับผู้ลงทุนที่ยังอยู่ในกองทุนรวมท่านอื่นให้เจอกับภาวะ NAV ติดลบต่อเนื่อง และมีความเสี่ยงที่จะมีแรงขายออกมาอีก ต้องถือว่า เป็นการตัดสินใจที่กล้าหาญ และคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้ลงทุนเป็นสูงสุดนะครับ
จนถึงตอนนี้ ข้อมูลที่ผมได้รวบรวมมา ณ วันที่ 26 มิ.ย. 2020 ก็พบว่า ผู้จัดการกองทุนของ TMBAM Eastspring ได้ทำการชำระบัญชีกองทุนรวมทั้ง 4 ไปแล้ว สัดส่วนตามนี้ครับ ธนพลัส 43%, ธนไพศาล 34%, ธนเพิ่มพูน 46% และ ธนไพบูลย์ 55%
ส่วนการขายสินทรัพย์ก็ทำได้ไม่เลวเช่นกัน พบว่าสามารถรักษาระดับราคาต้นทุน ณ วันทำการสุดท้ายไว้ได้ คือ ขายได้ 30,866 ล้านบาทจากต้นทุน 30,590 ล้านบาท
ทั้งนี้ผู้ลงทุนอาจจะมีคำถามว่า ทำไม TMBAM Eastspring ถึงยังไม่สามารถขายสินทรัพย์เพื่อชำระบัญชีได้ครบ 100%
เรามาดูกันครับ
1.ตลาดตราสารหนี้มีการซื้อขายเบาบาง – ถึงแม้การระบาด COVID-19 ภายในประเทศ จะเบาบางลงไปมากเมื่อเทียบกับช่วงเดือนมี.ค. แต่เนื่องจากสถานการณ์การระบาดในต่างประเทศ ทำให้เศรษฐกิจไทย รวมถึงเศรษฐกิจโลก ยังเผชิญความเสี่ยงรออยู่ตรงหน้าในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ ดังนั้น การซื้อขายตราสารหนี้ในตลาด ถึงเพิ่มขึ้นจากสิ้นเดือนมี.ค. แต่ก็ยังไม่ขึ้นมาถึง ณ ระดับเดิมก่อนวิกฤตการระบาด COVID-19
2.กรณีหุ้นกู้การบินไทย – ประกอบกับ การยื่นเข้าแผนฟื้นฟูกิจการภายใต้กฎหมายล้มละลายของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ในช่วงเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา มีผลทำให้ Credit Spread หรือ ส่วนต่างผลตอบแทนหุ้นกู้เอกชน และพันธบัตรรัฐบาล เพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง จึงกระทบกับความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน และมีการเร่งขายตราสารหนี้ออกมา ทำให้ราคาตราสารหนี้ปรับตัวลงบ้างในช่วงเวลาที่ผ่านมา ถึงแม้ทั้ง 4 กองทุนจะไม่ได้มีการลงทุนในหุ้นกู้การบินไทยเลย ก็ได้รับผลกระทบทางอ้อมบ้าง โดยเฉพาะการขายสินทรัพย์ที่คงเหลืออยู่ในพอร์ต
3.มูลค่าทั้งสี่กองทุนรวมตราสารหนี้ ณ วันที่ปิดกองรวมกันประมาณ 1.5 แสนล้านบาท และแม้จะได้ทยอยขายไปและสามารถรักษาราคายุติธรรมไว้ได้ในช่วงที่ผ่านมา แต่ปริมาณสินทรัพย์คงเหลือในพอร์ตก็อีกประมาณ 80,000 กว่าล้านบาท – ด้วยปริมาณเงินลงทุนทั้ง 4 กองทุนรวมกันค่อนข้างสูง การพยายามเร่งขายตราสารหนี้ในปริมาณมาก ในสภาวะที่ตลาดยังไม่มีสภาพคล่องเต็มที่ มีความเสี่ยงจะทำให้ได้ราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าความเป็นจริงลงไปอีก ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อผู้ถือหน่วยลงทุนทั้ง 4 กองทุน
ทั้งนี้ จากปัจจัยหลัก ๆ 3 ปัจจัย ซึ่งยังไม่รวมถึงปัจจัยอื่น ๆที่ผู้จัดการกองทุนต้องพิจารณาในช่วงที่ผ่านมา อย่างเช่น อัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งมีผลต่อราคาตราสารหนี้ในส่วนที่ลงทุนในต่างประเทศบางส่วน , การเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยในตลาด รวมถึง ระยะเวลาที่ผู้ถือหน่วยจะได้รับเงินลงทุนคืน ทำให้ทาง TMBAM Eastspring จำเป็นต้องขออนุญาตและได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ขยายเวลาจ่ายเงินคืนผู้ถือหน่วยลงทุนออกไปอีก 90 วัน
เมื่อพิจารณาให้ดี จะพบว่า การตัดสินใจของ TMBAM Eastspring เป็นไปแนวทางมาตรฐานสากลของอุตสาหกรรมกองทุนรวม ซึ่งมีข้อดีต่อผู้ถือหน่วย ก็คือ ผู้จัดการกองทุน จะไม่จำเป็นต้องเร่งขายตราสารที่ยังไม่ครบกำหนดไถ่ถอนจนกลายเป็นการทุ่มขายตราสารในเวลาอันใกล้ ในสภาวะที่สภาพคล่องในตลาดยังไม่ได้กลับมาเป็นปกติ ซึ่งจะทำลายโครงสร้างราคาในตลาดในภาพรวมด้วย
ที่สำคัญ ถ้าสภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้ ไม่ได้เลวร้ายหนักเหมือนช่วงเกิดปัญหาในรอบแรก ๆ ก็ทำให้เชื่อได้ว่า ผู้ถือหน่วยลงทุนจะได้จำนวนเงินที่ไถ่ถอนออกมาใกล้เคียงกับ NAV ณ วันที่ปิดกองทุน
ผมเชื่อว่า TMBAM Eastspring มีการดำเนินการอย่างมืออาชีพ ตามหลักมาตรฐานสากล รักษาผลประโยชน์ผู้ลงทุนเป็นสูงสุด และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ลงทุน
There are 0 comments