ทุกวันนี้เทรนด์ Dining Out หรือการรับประทานอาหารนอกบ้าน ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบัน ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของความสะดวกสบาย ความสะอาด และคุณภาพของอาหารกันมากขึ้น จึงเป็นโอกาสทองของธุรกิจร้านอาหารที่จะสามารถเติบโตควบคู่ไปกับเทรนด์ดังกล่าว เช่นเดียวกับ เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป “ZEN” ซึ่งกำลังจะนำหุ้น IPO เข้าตลาดเร็วๆ นี้
บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ZEN ซึ่งเราได้ยินชื่อนี้คุ้นหูจากร้านอาหารญี่ปุ่นชื่อเดียวกับบริษัทฯ แต่น้อยคนนักจะรู้ว่า ZEN ยังมีร้านอาหารญี่ปุ่นรวมจำนวน 6 แบรนด์ และร้านอาหารไทย 6 แบรนด์ รวมทั้งสิ้น 255 สาขา (ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561) นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์อาหารอีกหลายอย่างที่ ZEN เป็นเจ้าของ

รายได้ และกำไรสุทธิของ ZEN ในช่วง 3 ปีย้อนหลังตามนี้ครับ
- ปี 2558
รายได้รวม 1,965.7 ล้านบาท
กำไรสุทธิ 110.1 ล้านบาท
- ปี 2559
รายได้รวม 2,181.9 ล้านบาท
กำไรสุทธิ 89.6 ล้านบาท
- ปี 2560
รายได้รวม 2,515.2 ล้านบาท
กำไรสุทธิ 81.8 ล้านบาท
เห็นได้ว่ารายได้ของ ZEN โตขึ้นทุกปี แต่เราอาจสะดุดว่า ทำไมกำไรก็ลดลงทุกปีด้วย เรื่องนี้ต้องไปดูในรายละเอียดครับ
สาเหตุเพราะบริษัทฯ ได้ทยอยลงทุนด้านค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงานและระบบ Back-office ต่างๆ ที่จะมาสนับสนุนการบริหารจัดการ เพื่อรองรับการเติบโต และขยายสาขาร้านอาหาร ทำให้ในอนาคตต่อจากนี้ ZEN สามารถใช้ฐานฝ่ายงานสนับสนุนที่มีการลงทุนไว้แล้วเพื่อรองรับการเติบโตได้ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีค่าใช้จ่ายด้าน Marketing เพื่อสร้าง Brand Awareness ให้กับทุกแบรนด์ในเครือ
การที่ ZEN ซื้อแบรนด์ร้านอาหารไทยเข้าพอร์ตไว้ ไม่ใช่เพราะเทรนด์หรือความนิยมอาหารญี่ปุ่นของคนไทยลดลงนะครับ แต่เพื่อการกระจายความเสี่ยง และขยายช่องทางในการสร้างรายได้ไว้บ้าง ซึ่งเรื่องนี้หลักฐานก็คือ โครงสร้างรายได้ของบริษัทฯ จากตารางด้านล่าง เราจะเห็นว่าแบรนด์ธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นทุกร้าน รายได้ยังเติบโตดีอย่างต่อเนื่อง

ที่น่าสนใจคือ บรรทัด “ธุรกิจแฟรนไชส์” ซึ่งรายได้พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เปิดตัวเมื่อปี 2559 ก็เป็นวิธีการลดความเสี่ยงในแง่เงินลงทุนก้อนใหญ่ และเปิดโอกาสทางธุรกิจที่กว้างขึ้นด้วย
นอกจากนี้ นับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา ZEN ก็มีธุรกิจอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่
- ธุรกิจการบริการจัดส่งอาหาร (Delivery) รวมถึงบริการการจัดเลี้ยง (Catering)
- ธุรกิจการให้บริการบริหารร้านอาหาร (Restaurant Management) และการให้บริการที่ปรึกษาเกี่ยวกับร้านอาหาร (Restaurant Consultancy) สำหรับผู้ประกอบการ เจ้าของสาขาแฟรนไชส์ (แฟรนไชส์ซี)
- ธุรกิจอาหารค้าปลีก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมปรุง (Ready-to-Cook) และผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมทาน (Ready-to-Eat) ด้วยการนำผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้รับความนิยมในร้านอาหารของกลุ่มบริษัทฯ ออกผลิตและจำหน่าย โดยบริษัทฯ ได้เข้าทำสัญญาความร่วมมือทางธุรกิจกับไทย บรอดคาสติ้ง เพื่อความร่วมมือในการจัดกิจกรรมทางการตลาด ซึ่งคาดว่าจะขยายผลิตภัณฑ์อาหารให้หลากหลายขึ้น รวมทั้งเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายเพื่อการเติบโตในอนาคต
ถึงแม้ปัจจุบันยังทำรายได้เป็นสัดส่วนไม่มาก เมื่อเทียบกับรายได้ของธุรกิจหลัก แต่อัตราการเติบโตถือว่าดีมากๆ ทีเดียว

ไปดูโครงสร้างผู้ถือหุ้นของ ZEN กันครับ

จะพบว่าสัดส่วนหุ้นส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มของคุณสรรคนนท์และจอมขวัญ จิราธิวัฒน์ โดยก่อนจะทำการ IPO ถืออยู่รวมกัน 89.2% และจะลดลงเหลือ 66.9% หลัง IPO ซึ่งยังถือว่ามากกว่ากึ่งหนึ่งอยู่ดี
การเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งนี้ (IPO) จะมีจำนวนหุ้นเพิ่มทุนทั้งหมด 75,000,000 หุ้น คิดเป็น 25% ของหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมด โดยจะทำการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ SET ในหมวดธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มนะครับ โดยจะนำเงินเพิ่มทุนครั้งนี้ไปขยายสาขาและปรับปรุงสาขา คืนเงินกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ
โดยสรุป ZEN มีจุดแข็งหลายด้านซึ่งตอบรับกับเทรนด์ Dining-Out ของชุมชนเมืองที่กำลังเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น
- ชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับอย่างยาวนาน
- มีแบรนด์ร้านอาหารที่หลากหลายและครอบคลุมความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างทั่วถึง รวมทั้งได้ขยายเข้าสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ เพื่อการเติบโตในระยะยาว
- สามารถขยายสาขาได้อย่างกว้างขวาง ผ่านรูปแบบการลงทุนเป็นเจ้าของสาขาและแฟรนไชส์ ซึ่งสามารถลดความเสี่ยงจากการลงทุนโดยรวมและสร้างผลกำไรอย่างต่อเนื่อง
- มีภาพลักษณ์ที่ดีและมีความสัมพันธ์มายาวนานกับคู่ค้าและลูกค้า
- มีทีมวิจัยและพัฒนาและทีมธุรกิจใหม่ที่มีประสิทธิภาพ
- มีทีมผู้บริหารที่มีประสบการณ์ยาวนานในอุตสาหกรรมร้านอาหาร
ใครสนใจข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดของบริษัทฯ ได้ที่
https://www.zengroup.co.th