กองทุนลดหย่อนภาษียอดนิยม LTF หมดไป หลายคนอาจกำลังมองหาว่าตัวช่วยในการลงทุนเราเหลือน้อยลงอีก ทั้งนี้เราก็เห็นกองทุนลดหย่อนภาษีตัวใหม่ที่ชื่อ SSF ที่ออกมาให้เห็นแล้วว่า เงื่อนไขคืออะไร พิเศษกว่านั้น ในจังหวะที่ชาวโลกกำลังต่อสู้กับไวรัส Covid-19 อย่างเช่นตอนนี้ ก็มีอีกหนึ่งกองทุนลดหย่อนภาษีมาสร้างโอกาสเพิ่มขึ้นด้วย กับกองทุนที่มีชื่อย่อว่า “SSFX”
ส่วนเงื่อนไขจะเป็นอะไร น่าสนใจลงทุนขนาดไหน ค่อยๆอ่านกันไป คุณจะเห็นภาพชัดขึ้นแน่นอน
ถ้าดูจากการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยในช่วงเดือนมี.ค. – เม.ย. ที่ผ่านมา ความผันผวนระดับสูง และการปรับตัวขึ้นจากจุดต่ำสุด ดูเหมือนจะสวนทางความรู้สึกของนักลงทุนหลายๆ คนว่า วิกฤต Covid-19 ครั้งนี้ ไม่น่าจบลงง่ายๆ ภายในระยะเวลาไม่ถึง 2 เดือน
สิ่งนี้จึงทำให้นักลงทุนหลายคน เลือกที่จะมองตลาดอยู่ข้างสนาม แต่ก็เกิดความทรมานขึ้นในใจตลอดเวลา เพราะว่า ทำไมตลาดไม่เคลื่อนไหวตามทิศทางที่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่ผ่านพ้นมรสุม
ผมชวนคิดอีกด้านหนึ่ง เพื่อให้เราได้ข้อมูลเพิ่มเติมมากกว่าจะคิดแต่เพียงว่า “เศรษฐกิจยังไม่ฟื้น ตลาดหุ้นก็ไม่น่าจะไปได้ไกลกว่านี้มากหรอก” เราลองมาดูกันครับ
ทำไมตลาดหุ้นโลกรวมถึงหุ้นไทย ลงไม่แรงเท่าที่ใจเราคิด?
สิ่งที่เปลี่ยนไปและทำให้วิกฤต Covid-19 ไม่เหมือนกับวิกฤตรอบก่อนๆก็คือ การเข้ามาของธนาคารกลางทั่วโลกด้วยมาตรการฉุกเฉินผ่านนโยบายการเงิน รวมถึงการเสริมสภาพคล่องให้กับตลาดด้วยมาตรการการคลังซึ่งทำให้เป็นการอัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลกไปแล้ว
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2008 ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ประกาศใช้นโยบาย Quantitative Easing (QE) ครั้งแรก ตอนนั้นเชื่อว่า หลายคนก็มองว่า ค่าเงินดอลล่าร์จะอ่อนค่าลงจากการพิมพ์เงินออกมามหาศาลแน่ๆ แต่ผ่านมา 12 ปี เราเห็นแล้วว่า ค่าเงินดอลล่าร์ไม่ได้อ่อนค่าลงไปขนาดนั้นเลย และจุดกลับทิศของตลาดหุ้นโลก ก็เริ่มมาจากจุดนั้น
ใช่ครับ ที่ผมจะบอกก็คือ นักลงทุนในตลาดรอบนี้ ตอบรับกับการใช้มาตรการแทรกแซงผ่านนโยบายการเงินและนโยบายการคลังที่ทำได้รวดเร็วกว่าวิกฤตรอบก่อนๆ มาก ทำให้นักลงทุนสามารถมองข้าม ไม่ได้กังวลกับการจะผิดนัดชำระหนี้ หรือ เกิด Domino Effect แห่ขายสินทรัพย์เสี่ยงเพราะไม่รู้ว่าผู้อยู่รอดในวิกฤตครั้งนี้จะเป็นใคร
มาตรการต่างๆ และนโยบายการเงินที่เฟดใช้ภายในเวลาเพียงแค่ 1 เดือน
Valuation ของตลาดหุ้นไทยเป็นอย่างไร?
การจะดูว่าตลาดหุ้นถูกหรือแพงตอนนี้ ด้วยการพิจารณาจาก P/E Ratio เราอาจจะตีความไปว่า ตลาดหุ้นยังลงไม่สุดทาง สาเหตุเพราะ ล่าสุด ที่ระดับดัชนี SET Index อยู่บริเวณ 1,270 – 1,300 จุด ระดับ P/E Ratio อยู่ที่ 15 เท่า ถือว่า ไม่ได้ถูกขนาดนั้นเมื่อเทียบกับช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง หรือ วิกฤตซับไพรม์ แค่ลงมาจากโซนแพง มาที่ค่าเฉลี่ยเท่านั้นเอง ซึ่งเหตุผล ก็บอกไปแล้วนะครับว่า เพราะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและเสริมสภาพคล่องจากรัฐบาลทั่วโลกทำได้เร็วกว่าในอดีต และตลาดให้น้ำหนักสิ่งนี้มากกว่ายอดขายและกำไรที่จะหดหายไปแน่ๆ อย่างน้อยๆ 1-2 ไตรมาสข้างหน้า
อีกวิธีในการดู Valuation ของตลาด เราก็สามารถมองผ่าน P/BV แทนได้ ซึ่ง ณ ระดับปัจจุบัน SET Index มี P/BV อยู่ที่ 1.4 เท่า ถึงไม่ต่ำแบบช่วงวิกฤตซับไพรม์ แต่ก็สะท้อนได้ว่า ตลาดหุ้นปรับฐานมาแล้วพอสมควร
ดัชนี SET Index และ P/BV (ณ วันที่ 7 พ.ค. 2020)
หรือถ้ามองเป็น P/E Band ไม่ได้มองแค่ระดับ P/E ว่าต่ำขนาดวิกฤตรอบก่อนๆ หรือยัง ก็จะพบว่า ณ วันที่ SET Index ลงมาต่ำกว่า 1,000 จุด P/E ลงมาอยู่ที่ 11.9 เท่า ซึ่งแตะระดับ -2 S.D. ของค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี ก็ทำให้มองได้ว่า ที่ตลาดปรับฐานลงมาในเดือนมี.ค. ก็ถือว่าลงมาหนักจน Valuation ลงมาในโซนที่ไม่น่าแปลกใจหากมีแรงซื้อยกดัชนีกลับขึ้นมาในเดือนเม.ย. นะครับ
ดัชนี SET Index และ P/E Band (ณ วันที่ 7 พ.ค. 2020)
ตลาดหุ้นไทย จะมีปรับฐานให้โอกาสคนตกรถรอบที่แล้วไหม?
ผมก็ขอตอบตรงๆว่า ผมเองก็ไม่รู้ครับ แต่ก็มีความหวังเหมือนกับทุกๆคนว่า ถ้าเห็นอีกครั้ง เราจะไม่พลาดโอกาสแน่นอน ซึ่งโอกาสปรับฐานอีกซักรอบก็มีเหตุผลรองรับหลายเหตุผลเหมือนกัน
- ในตลาดหมี (Bear Market) เราอาจจะพบกับการรีบาวน์แรงๆ อย่างที่เราเห็นในเดือนเม.ย. เป็นเรื่องปกติ แต่ก็ใช่ว่า มันคือจุดจบของการปรับฐานแล้ว เพราะความปกติของวิกฤตการเงิน หรือ วิกฤตเศรษฐกิจนั้น จะมีลักษณะยืดเยื้อ ปัญหามีความซับซ้อนและมีหลายมิติที่ต้องแก้ จึงทำให้การฟื้นตัวแบบ V Shape เกิดได้ยาก
- วิกฤต Covid-19 รอบนี้ ตลาดจะมั่นใจได้แบบ 100% ว่า เราหลุดออกจากความเสี่ยงแล้ว ก็เมื่อตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจรวมถึงการที่โลกค้นพบ และมีการใช้วัคซีนกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งต้องบอกว่า ณ จุดนี้ เรามันมองกันไม่ออก
- การเปิดเมือง (Reopen) อีกรอบขอทุกประเทศทั่วโลก เหตุผลก็เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจมันกระเตื้องขึ้นบ้าง ไม่เช่นนั้น คนอดตาย อาจจะมากกว่า ติดเชื้อแล้วตาย ซึ่งจะนำมาซึ่งความเสี่ยงการแพร่ระบาดรอบสองอย่างที่ญี่ปุ่นหรือสิงคโปร์กำลังเผชิญอยู่
- และเมื่อดูสถิติตลาดหุ้นไทยย้อนหลังไป 20 ปี พบว่า ช่วงเดือนพ.ค. – ต.ค. เป็นช่วงที่ตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนน้อยกว่า ช่วงเดือนพ.ย. – เม.ย. ซึ่งแปลว่า Sell In May มีโอกาสเกิดเหมือนกัน และสร้างโอกาสให้กับนักลงทุนที่มีความอดทน และมองในเกมส์ระยะยาว
ดัชนี SET Index และผลตอบแทนในอดีต 20 ปีที่ผ่านมา (ณ วันที่ 7 พ.ค. 2020)
ตลาดหุ้นไทย น่าสนใจกว่าตลาดหุ้นอื่นๆรอบโลก?
มันไม่ใช่เรื่องของความน่าสนใจเพียงอย่างเดียวครับ แต่เพราะนี่คือประเทศของเรา เราเข้าถึงข้อมูลการวิเคราะห์และเข้าใจสภาพเศรษฐกิจและสังคมไทยได้มากกว่าประเทศอื่นๆ ดังนั้น นักลงทุนไทย ก็ต้องมีพอร์ตการลงทุนในไทย เป็นพอร์ตหลักอยู่แล้ว ส่วนจะกระจายไปที่ไหนอีกบ้าง อันนี้ก็อยู่ที่ความเหมาะสม
หลายคนอาจมองว่า ตลาดหุ้นไทย ขาดเสน่ห์ในแง่ของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่ไม่มีให้เห็นเลย แต่เอาเข้าจริงๆ เราก็ไม่จำเป็นต้องหาหุ้นเทคโนโลยีเข้าพอร์ตเพียงอย่างเดียวนะครับ วิกฤต Covid-19 ครั้งนี้ อาจทำให้ปรากฎการณ์ Technology Disruption เร่งตัวเร็วกว่าเดิมก็จริง แต่มันก็สร้างโอกาสให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆด้วย เช่น ธุรกิจส่งออก ที่ผมเชื่อเหลือเกินว่า Global Supply Chain หลังจากวิกฤตรอบนี้ จะค่อยๆ เปลี่ยนไป จากการที่หลายๆประเทศจะกระจายการสั่งซื้อสินค้าไปยังแหล่งอื่น ไม่กระจุกอยู่ที่จีนเพียงแห่งเดียวเหมือน 10 ปีที่ผ่านมา เพราะมันทำให้เห็นแล้วว่า พอจีนมีปัญหา และต้องปิดเมือง มันกระทบกันทั้งโลกจริงๆ
ขณะที่หลายๆ บริษัท จะใช้โอกาสในวิกฤตครั้งนี้ ลดต้นทุนลง และปรับโครงสร้างภายใน ยอดขายไม่ต้องโตเยอะ ก็ได้กำไรมากขึ้น และอีกหลายๆ บริษัท สามารถสร้างตลาดใหม่ๆ ได้หลังจากที่ตันมานาน
และมันจะดีขึ้นไปอีก ถ้าเรามีแต้มต่อในการลงทุน
อย่างที่เราทราบกันนะครับ ว่ามีการเปิดตัวกองทุนลดหย่อยภาษี SSFX (SSF Extra) ซึ่งเป็นกองทุนประหยัดภาษีแบบพิเศษที่ออกมาขายเฉพาะช่วงเดือนเม.ย. ถึง 30 มิ.ย. เท่านั้น
หลักๆ วัตถุประสงค์ของ SSFX คือ เป็นนโยบายพิเศษของรัฐบาลในการลดความผันผวนของตลาดหุ้น โดยการให้คนที่ต้องการลดหย่อนภาษี ลดหย่อนเพิ่มเติมได้ในวงเงิน 200,000 บาท ไม่ต้องไปรวมคำนวณกับ SSF ปกติ หรือ RMF
ทั้งนี้ SSFX มีนโยบายลงทุนในหุ้นไทยไม่น้อยกว่า 65% ในรอบปีบัญชี และต้องถือครอง 10 ปีตามเงื่อนไข ซึ่งการที่ตลาดหุ้นปรับฐานลงมาตรงนี้ หรือ อาจจะมีโอกาสปรับฐานอีกในอนาคต ก็อาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเข้าลงทุน เพื่อสร้างพอร์ตของเราให้โตในระยะยาวๆ ต่อไป
ใครเหมาะลงทุนกับ SSFX?
ผู้มีรายได้ต้องเสียภาษีที่เชื่อว่า วิกฤตรอบนี้ คือ โอกาสสร้างผลตอบแทนในระยะยาวจากการลงทุนในตลาดหุ้นไทย เอาจริงๆ ก็คือ นักลงทุนไทยทุกคนนั้นหล่ะครับที่ผมอยากชวนให้หันมามองกองทุนนี้ รวมถึงใครที่ใช้สิทธิการลงทุนใน PVD + RMF + SSF + ประกันบำนาญ เต็มสิทธิ 500,000 บาทต่อปีไปแล้ว ก็เป็นอีกทางเลือกที่ไม่ควรมองข้าม
โดยสำหรับเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา มีบลจ.เสนอขายกองทุนรวม SSFX ทั้งหมด 12 บลจ. รวม 15 กองทุน มีเม็ดเงินลงทุนรวมราวๆ 1,000 ล้านบาทแล้ว โดยนับจากวันที่แต่ละกองของ SSFX ปิด IPO กันออกมา ต้องบอกว่า NAV เกิน 10 บาทกันทุกกอง เนื่องจากตลาดหุ้นไทยก็ค่อยๆทยอยปรับตัวขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยนับตั้งแต่ต้นเดือนเม.ย. ที่ผ่านมาจนถึงสิ้นเดือน พ.ค. ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นมาแล้วเกิน 18%
ใครมองระยะสั้นๆอาจมองว่าแพง แต่ ณ ระดับนี้ ยังห่างจากจุดสูงสุด (All Time High) มากกว่า +35% ทีเดียว
ไม่ได้บอกว่า ปีนี้จะขึ้นไปได้ขนาดนั้นนะครับ แต่ทั้งนี้ผมชื่อว่า กระแสเงินลงทุนจะเข้ามาใกล้ๆช่วงสุดท้ายคล้ายๆกับกรณีกองทุน LTF ที่นักลงทุนมีพฤติกรรมเข้าซื้อช่วงใกล้วันสุดท้ายปลายปี
เหลือเวลาอีกไม่ถึงเดือนสำหรับสิทธิกองทุน SSFX นะครับใครสนใจ สามารถเข้าไปดูรายละเอียดกองทุน SSFX เพิ่มเติมกันได้ที่แหล่งข้อมูลด้านล่างครับ
โผกองทุน SSFX ดูได้ที่
https://setga.page.link/6zpdzKEpLKSfZKHK6
ส่วนโปรโมชั่นของกองSSFX แต่ละบลจ. ดูได้ที่
https://setga.page.link/3VZbsCUiaP6UU5bh9
There are 0 comments