ตั้งแต่ต้นปีจนถึงสิ้นเดือน เม.ย. ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ปรับตัวบวกสดใส ขานรับข่าวดีจากประเด็นสำคัญต่างๆ เช่น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่มีแนวโน้มคลี่คลายขึ้น, ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณผ่อนคลาย (Dovish), ชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ย แต่อีกด้าน เราก็เห็นชัดเจนว่า ตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง (IMF ปรับลดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกเหลือ 3.3% จากเดิมที่ 3.5%) รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อก็ไม่ได้ร้อนแรงมากและยังคงต่ำกว่าเป้าหมายที่ 2% ซึ่งส่งผลให้ตลาดฯเข้าสู่สภาวะ Goldilocks หรือภาวะเศรษฐกิจที่มีดุลยภาพ (หมายถึงการเติบโตของเศรษฐกิจที่ไม่ได้ร้อนแรงเกินไปจนทำให้มีแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ) และถึงแม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงบ้างแต่ก็ยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งส่งผลดีต่อการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆไม่ว่าจะเป็น หุ้น, ตราสารหนี้ และ REITs ก็ต่างให้ผลตอบแทนน่าพอใจในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2019 ตามนี้
- ตลาดทั่วหุ้นโลก (ดัชนี MSCI World) +7.00%
- ตลาดหุ้นจีน (ดัชนี MSCI China) +4.98%
- ตลาดหุ้นญี่ปุ่น (ดัชนี Nikkei) +5.31%
- ตลาดหุ้นยุโรป (ดัชนี Euro Stoxx 600) +7.48%
- ตลาดหุ้นสหรัฐฯ (ดัชนี S&P500) +8.69%
- ตลาดหุ้นเอเชียไม่รวมญี่ปุ่น (ดัชนี MSCI Asia ex Japan) +4.64%
- ตลาดหุ้นประเทศเกิดใหม่ หรือ EM (ดัชนี MSCI EM) +3.34%
รวมถึงสินทรัพย์เพื่อการลงทุนประเภทอื่นที่ไม่ใช่หุ้น ก็ให้ผลตอบแทนที่น่าพอใจไม่แพ้กัน
- ตลาดตราสารหนี้ทั่วโลก (ดัชนี Barclay Aggregate TR Unhedged) +4.80%
- ตลาดอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลก (ดัชนี MSCI World Real Estate) +13.26%
- ตลาดทองคำ (Gold Spot) +1.52%
- ตลาดน้ำมัน (WTI) +7.09%
(ข้อมูลถึงวันที่ 31 พ.ค. 62)
นี่คือ ผลตอบแทนการลงทุนแต่ละดัชนี ท่ามกลางความกังวลเรื่องสงครามการค้า และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคการผลิตในประเทศหลักของโลกนะครับ หลายคนถึงขั้นงงไปเลย ตกลงว่าเศรษฐกิจโลก ดีหรือแย่กันแน่? ทำไมหุ้นถึงให้ผลตอบแทนดีในช่วงนี้?
วันนี้ชวนไปอ่านมุมมองการลงทุนจาก TMB Advisory ที่ผมจะมาสรุปให้อ่านกัน
เศรษฐกิจโลกหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร?
โดยภาพรวม ต้องบอกว่า ยังคงเติบโตอยู่ แต่อยู่ในระดับที่น้อยลง ขณะที่ความเสี่ยงที่นักลงทุนกังวลกันตั้งแต่ต้นปี จนถึงตอนนี้ ดูจะเบาบางลงไปเยอะ จาก 2 ประเด็นหลักๆคือ
- สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่มีแนวโน้มคลี่คลายขึ้น จากการหันหน้าเข้าหากันของสองผู้นำ
- ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณผ่อนคลาย (Dovish) ชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ย หลังตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อก็ไม่ได้ร้อนแรงมากและยังคงต่ำกว่าเป้าหมายที่ 2%
แต่ถ้าถามว่าเป็นแบบนี้ หุ้นจะวิ่งขึ้นต่อได้ไหม? ทาง TMB Advisory ก็วิเคราะห์ให้เห็นอีกมุมหนึ่งของภาพรวมเศรษฐกิจ ตามกราฟด้านล่างนี้
จะเห็นว่า Global PMIs ทั้งภาคการผลิต และภาคบริการ ชะลอตัวลงมานับตั้งแต่ต้นปี 2018 โดยหลายประเทศอย่างกลุ่มยูโรโซน, ญี่ปุ่น และจีน ตัวเลข PMI ภาคการผลิต ลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 จุด ซึ่งหมายถึงไม่ใช่แค่ชะลอตัว แต่ภาคการผลิตกำลังเริ่มหดตัวแล้ว ตรงนี้ ก็เป็นตัวสะท้อนว่า ถึงแม้ปัจจัยเสี่ยง 2 ประเด็นข้างบนจะลดลง แต่สภาพเศรษฐกิจโดยรวม ยังไม่ได้อยู่ในทิศทางที่เราจะสบายใจได้จริงๆ
แม้ปัจจัยเสี่ยงลดลง แต่ปัจจัยพื้นฐานยังไม่ฟื้น แล้วครึ่งปีหลังเศรษฐกิจจะฟื้นมั้ย?
ก็ต้องเล่าขยายความเพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามนี้ ด้วยมุมมองเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวรอเราอยู่ข้างหน้าแบบนี้ นักลงทุนในตลาดจึงคาดหวังว่า เราจะได้เห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาล และธนาคารกลางต่างๆกลับมาในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งความคาดหวังเช่นนี้ คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราจำเป็นต้องกระจายการลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภทไว้ก่อน
ทั้งนี้ ผู้ที่จะเป็นผู้นำในการดำเนินนโยบายกระตุ้นที่ตลาดมอง ก็คือ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่งตลาดคาดการณ์ว่า จะลดดอกเบี้ยนโยบายอย่างน้อย 1 ครึ่งในครึ่งปีหลังนี้ และอาจจะเพิ่มมากขึ้น กรณีมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นมากดดันเศรษฐกิจอีก
ยังมีประเด็นความเสี่ยงอะไรอีก?
ความเสี่ยงหลักที่ TMB Advisory มองก็มีตามนี้
- มีการปรับลดคาดการณ์การเติบโตของผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน (EPS Growth) ลงมากกว่าเดิม
- ประเด็นการเมืองในยุโรป (ทั้ง Brexit ที่ต้องมีการเลือกตั้งนายกฯใหม่ ทำให้โอกาสการเกิด Brexit with no deal มีเพิ่มมากขึ้น) และปัญหาหนี้ต่อจีดีพีของอิตาลีที่ ECB จับตาดูอย่างใกล้ชิด
- ประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน รวมทั้งประเทศอื่นๆ ซึ่งยังคงตอบยากว่าจะจบแบบไหน หรือ สหรัฐฯจะเบนเข็มย้ายจากประเทศจีนไปประเทศใดแทน
เสี่ยงแบบนี้ แล้วครึ่งปีหลัง ควรลงทุนอย่างไร?
นักลงทุนควรจะจัดการกับความเสี่ยงด้วยการจัดพอร์ตการลงทุน (Asset Allocation) ซึ่งแต่ละประเภทสินทรัพย์ ทาง TMB Advisory เขาสรุปมุมมองและคำแนะนำตามนี้
ตราสารทุน (หุ้น)
แนะนำลงทุนในหุ้นคุณภาพ (Quality) ที่มีอัตราการเติบโตของกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอ และมีปัจจัยพื้นฐานที่ดี โดยชอบกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา โดยเฉพาะ จีน และอินเดีย มากกว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เนื่องจากคาดการณ์อัตราการเติบโตเศรษฐกิจ และผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน (EPS Growth) ของทั้งสองประเทศยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าประเทศอื่นๆ
จีน – จุดแข็งคือ รัฐบาลจีนมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ค่อนข้างยืดหยุ่นและทำได้ทันที รวมทั้งยังมีการแก้ปัญหาหนี้เสียจากธนาคารเงา (Shadow Banking) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อินเดีย – จุดแข็งคือ สถานการณ์การเมืองกลับมามีสเถียรภาพหลัง นายโมดี ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง และเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 ติดต่อกัน ซึ่งทำให้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของนายโมดี เช่น การเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้แก่ผู้ให้บริการด้านการเงินที่มิใช่ธนาคาร, นโยบายปฏิรูประบบภาษี GST, นโยบายขยายโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure)
หุ้นกลุ่ม Healthcare – แนะนำลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยง เนื่องจากเป็นหุ้นกลุ่มเชิงรับ (Defensive) ที่มีอัตราการเติบโตของกำไรอยู่ในระดับสูง รวมทั้งยังได้รับผลกระทบจำกัดจากประเด็นสงครามการค้า และการเมืองต่างๆ
ตราสารหนี้
แนะนำลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ที่มีการกระจายความเสี่ยงในหลายๆสินทรัพย์ โดยเฉพาะในยุโรป เนื่องจากมี Spread หรืออัตราผลตอบแทนอยู่ในระดับที่น่าสนใจ ทั้งนี้อัตราผลตอบแทน (Yield) ของพันธบัตรรัฐบาลที่มีอายุยาว (เช่น 10 year US Treasury) มีโอกาสปรับตัวลงได้อีกจากการที่นักลงทุนส่วนใหญ่คาดว่าเฟดน่าจะปรับลดดอกเบี้ยอย่างน้อย 1 ครั้งในครึ่งปีหลังนี้
ทองคำ
แนะนำลงทุนไม่เกิน 10% ของพอร์ตการลงทุนเพื่อป้องกันความเสี่ยง
น้ำมัน
ไม่แนะนำให้ลงทุน เนื่องจากราคาน้ำมันมีแนวโน้มผันผวนเนื่องจากความกังวลด้านอุปสงค์และอุปทานการผลิต จากการที่เศรษฐกิจโลกเริ่มชะลอตัวลง
REITs
แนะนำลงทุนไม่เกิน 15% ของพอร์ตการลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยง โดยอัตราการจ่ายปันผล (Dividend Yield) ของ REITs โดยเฉพาะในไทยและสิงค์โปร์อยู่ในระดับที่สูงเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งเหมาะกับสภาวะ Search for Yield ในปัจจุบัน
สรุปคือ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจประเทศแกนหลักที่ชะลอตัว TMB Advisory ให้คำแนะนำว่า นักลงทุนควรใช้กลยุทธ์กระจายความเสี่ยงการลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภท และใช้ประโยชน์จาก Asset Allocation ให้มากที่สุด และเพราะความเสี่ยงและความผันผวนที่สูงขึ้น ทำให้ TMB Advisory มีมุมมองการลงทุนแบบระมัดระวังในครึ่งปีหลังนี้ โดยให้น้ำหนักการลงทุนในตราสารหนี้มากกว่าหุ้น โดยยังคงมีประเด็นความกังวลต่างๆ ข้างต้นที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด
เชื่อว่าพอร์ตการลงทุนที่กระจายความเสี่ยงแบบนี้ น่าจะทำให้เรากินอิ่มนอนหลับ ความผันผวนไม่มากจนเกินไป และสามารถผ่านความผันผวนในครึ่งปีหลังนี้ไปได้นะครับ
ท่านใดสนใจคำแนะนำเพิ่มเติมจาก TMB Advisory สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.tmbbank.com/tmbadvisory/
There are 0 comments